สะพัด โอ๊ค รอดคุก รองอสส.เซ็นต์ไม่อุทธรณ์คดี อัยการสูงสุด โร่แจงขอตรวจสอบก่อน
ถือเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตาบทสรุป สำหรับคดีความของนายพานทองแท้ ชินวัตร หรือ โอ๊ค ลูกชายนายทักษิณ ชินวัตร ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , จากกรณีตรวจพบหลักฐานว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ทุจริตการปล่อยสินเชื่อธ.กรุงไทยฯ ให้ธุรกิจเครือกฤดามหานคร หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง และคณะทำงานอัยการคดีศาลสูง มีความเห็นไม่อุทธรณ์ จนทำให้ น.พ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ ต้องทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์คดี นายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยคดีร่วมกันฟอกเงิน 10 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยฯ ที่ปล่อยกู้ให้เครือกฤษดามหานคร เสนอให้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด วินิจฉัยชี้ขาด ตามรายละเอียดที่สนข.ทีนิวส์ นำเสนอมาเป็นลำดับ
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ศาลอาญาคดีทุจริตฯ อนุญาตขยายเวลาอุทธรณ์คดีโอ๊ค รออสส.วินิจฉัยคำโต้แย้งดีเอสไอ )
ล่าสุดมีรายงานข่าวผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ อ้างว่า สำนักงานอัยการสูงสุด โดย รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน อัยการสูงสุด ได้ลงนามคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวแล้ว และจะทำให้ผลแห่งคดีถือเป็นสิ้นสุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ขณะทื่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข้อมูลอีกด้านว่า "นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีนี้ว่า เบื้องต้นขอตรวจสอบข้อมูลก่อน เพราะเรื่องความเห็นชี้ขาดว่าจะอุทธรณ์ หรือไม่อุทธรณ์นั้น ต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน"
พร้อมเน้นย้ำข้อมูลว่า คดีของนายพานทองแท้ มีประเด็นให้สมควรต้องดำเนินการอุทธรณ์ เพื่อให้เกิดการพิจารณาข้อเท็จจริงแห่งคดีจนถึงที่สุด เนื่องจากในชั้นการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ปรากฎว่าความเห็นของ 2 ผู้พิพากษาในองค์คณะ มีความแตกต่างเป็น 2 ส่วน โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเห็นว่า นายพานทองแท้ มีความผิด สมควรลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนผู้พิพากษาอีกรายหนึ่งในองค์คณะเห็นว่า นายพานทองแท้ไม่มีความผิด เห็นควรรยกฟ้อง ส่งผลให้ต้องยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ที่บัญญัติว่า ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษาข้าหลวงยุติธรรม หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลนั้นหรือเจ้าของสำนวนเป็นประธาน ถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาทีละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : เปิด 4 เหตุผลร้อน ทำไมอสส.ต้องอุทธรณ์คดี โอ๊ค ฟอกเงินกรุงไทย )
กองบรรณาธิการข่าว